06/06/2025
🐟 ในปี 1995 นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบการผสมพันธุ์สุดพิลึกพิลั่นใน ‘ปลาแพะเขียว’ หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Corydoras aeneus พฤติกรรมผสมพันธุ์นี้เรียกว่า ‘การดื่มอสุจิ (s***m drinking)’ โดยเริ่มต้นด้วยปลาตัวเมียนำปากไปแนบที่รูสืบพันธุ์ของตัวผู้จากด้านข้าง (เป็นท่าคล้ายรูปตัว T) จากนั้นตัวเมียจะพับแผ่นปิดเหงือกราว 7 วินาที เพื่อกลืนน้ำอสุจิของตัวผู้ ในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีนี้ น้ำอสุจิจะไหลผ่านทางเดินอาหารตัวเมีย และถูกขับออกจากรูทวารมาปฏิสนธิกับไข่ ซึ่งถูกพยุงไว้ด้วยครีบเอว (pelvic fin) ที่ประกบกันเป็นถุงใต้ท้อง
🐟 พฤติกรรมดื่มอสุจิพบได้ในปลาอีกหลายชนิดในวงศ์ปลาแพะ (family Callichthyidae) โดยเฉพาะปลาสกุล Corydoras (เรียกแบบเหมารวมว่า ‘ปลาคอรี’) แต่ก็ไม่ใช่ทุกชนิดหรอกนะ ความน่าสนใจก็คือ ในปลาชนิดที่แสดงพฤติกรรมผสมพันธุ์แบบนี้ ตัวผู้มักจะมี ‘ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (seminal vesicle)’ ที่เจริญดี ต่างจากปลาชนิดที่ผสมพันธุ์ด้วยวิธีปกติ ซึ่งตัวผู้จะไม่มีเจ้าต่อมนี้ นั่นแสดงว่า น้ำเลี้ยงอสุจิของปลากลุ่มแรกน่าจะมีสารสำคัญบางอย่าง ที่จำเป็นต่อการขนส่งอสุจิภายในท้องตัวเมีย
🐟 ในปี 2025 นี้ นักวิจัยชาวญี่ปุ่นค้นพบโปรตีนในน้ำเลี้ยงอสุจิของปลาแพะเขียว ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดหลัก ได้แก่ carbonic anhydrase 12 (CA12), alpha-2-macroglobulin (A*M), และ lymphocyte antigen 6 (Ly6) ในบรรดาโปรตีนเหล่านี้ เขาพบว่า CA12 มีฤทธิ์ชะลอการเคลื่อนไหวของอสุจิครับ การชะลอนี้ช่วยให้อสุจิประหยัดพลังงานระหว่างอยู่ในทางเดินอาหารตัวเมีย ก่อนที่จะไปเริ่มว่ายน้ำจริงจังตอนที่พ้นรูทวารมาเจอไข่ ส่วนหน้าที่ของโปรตีน A*M และ Ly6 นั้นยังสรุปไม่ได้ อาจจะช่วยป้องกันเอนไซม์ในทางเดินอาหาร, ช่วยคุมการเคลื่อนไหวอสุจิ หรือช่วยต้านเชื้อโรค
🐟 ที่จริงแล้ว โปรตีน CA12 เป็นเอนไซม์ที่คุ้นเคยกันในบทเรียนชีววิทยาม.ปลายนะครับ จากชื่อ carbonic anhydrase ทุกคนคงเดาได้ว่ามันมีบทบาทในปฏิกิริยาเปลี่ยนรูประหว่าง bicarbonate และ CO2 นักวิจัยมีสมมุติฐานว่า CA12 น่าจะช่วยเพิ่ม CO2 และความเป็นกรด ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้หางของอสุจิเคลื่อนไหวช้าลงนั่นเอง
งานวิจัย:
Yoshida J, Yamamoto M, Kamiya et al. (2025) Seminal vesicle protein caCA12 in Corydoras aeneus inhibits s***m motility for s***m drinking. Journal of Experimental Biology 228: jeb250293. https://doi.org/10.1242/jeb.250293
Mazzoldi C, Lorenzi V & Rasotto MB (2007) Variation of male reproductive apparatus in relation to fertilization modalities in the catfish families Auchenipteridae and Callichthyidae (Teleostei: Siluriformes). Journal of Fish Biology 70: 243–256. https://doi.org/10.1111/j.1095-8649.2006.01300.x
Kohda M, Tanimura M, Kikue-Nakamura M & Yamagishi S (1995) S***m drinking by female catfishes: a novel mode of insemination. Environmental Biology of Fishes 42: 1–6. https://doi.org/10.1007/BF00002344
#นี่แหละชีวะ #ปลาแพะ